เกษตรอินทรีย์ (Organic Farming)


เกษตรอินทรีย์ (Organic Farming)
        คือ การเกษตรที่ใช้หลักการพึ่งพิงความสมดุลตามธรรมชาติอย่างเป็นองค์รวม เพื่อสร้างสรรค์ให้ระบบนิเวศการเกษตรมีความยั่งยืน สามารถให้ผลผลิตที่ดีในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืนระยะยาวถึงชั่วลูกชั่วหลานผสมผสานระบบการเกษตรทุกระบบที่ส่งเสริมและปรับปรุง สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อผลิตอาหารและปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีพ ที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

หลักการเกษตรอินทรีย์
หลักการทางด้านสุขอนามัย
เกษตรอินทรีย์ควรรักษาและเพิ่มพูนสุขอนามัยของ ดิน พืช สัตว์ มนุษย์  ซึ่งรวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยไม่แยกออกจากกัน

หลักการทางด้านนิเวศวิทยา
เกษตรอินทรีย์ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตที่มีการหมุนเวียนเป็นวงจร โดยใช้ประโยชน์ รักษาและเพิ่มพูน ให้มีความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

หลักการทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
เกษตรอินทรีย์ควรมีการจัดการบนพื้นฐานของความรับผิดชอบและระมัดระวังในการปกป้องสุขภาพ และสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคต

               แนวทางเกษตรอินทรีย์ได้รับการตอบรับทั่วโลกมีรูปแบบและแนวทางที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยเกิดจากปัจจัย 4 ประการ คือ
ปัจจัยแรก คือ ความตระหนักถึงสุขภาพของประชาชนที่มีสาเหตุการเจ็บป่วย และเสียชีวิต ด้วยโรคมะเร็งที่มีผลมาจากการบริโภคอาหารที่เป็นสารพิษตกค้าง โดยเฉพาะสารกำจัดศัตรูพืชที่มีข้อมูลที่พิสูจน์ว่าส่วนใหญ่เป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง คนจำนวนมากเริ่มระมัดระวังการบริโภคอาหารที่มีสารตกค้างมากขึ้น โดยพยายามหาซื้อพืชผักที่ปลอดจากสารพิษซึ่งมีขายไม่มากในราคาที่สูงกว่าพืชธรรมดา ทำให้เกิดความต้องการผลผลิตเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น
 ปัจจัยที่สอง ได้แก่ปัจจัยการผลิตการเกษตรที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้มีราคาสูงขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น ในขณะที่ราคาผลผลิตการเกษตรไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นในสัดส่วนที่สมควร เกษตรกรจึงพยายามหาทางออกที่สามารถจะรอดพ้นจากสภาพการขาดทุนและหนี้สิน ในขณะเดียวกันกลุ่มขององค์กรเอกชนได้พัฒนา เกษตรกรรมทางเลือกที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการเกษตรที่ไม่จำเป็นต้องใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ และสามารถปลดเปลื้องหนี้สินได้จำนวนมาก การเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกันของเกษตรกรได้ทำให้การเกษตรทางเลือกเป็นหนทางนำสู่เกษตรอินทรีย์ได้ขยายออกไปมากขึ้นตามลำดับ
ปัจจัยที่สาม ความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมที่ถูกปนเปื้อน จากสารพิษที่ใช้ในการเกษตรซึ่งมีผลทำให้สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งเป็นอาหารของประชาชนในชนบทได้ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งประสบการณ์การเกษตรเชิงเดี่ยวที่มีข้อมูลทางวิชาการจำนวนมากได้พิสูจน์ว่าเป็นสาเหตุของ การทำให้ดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ และการเกิดศัตรูพืชระบาดมากขึ้น และเป็นต้นเหตุของการใช้สารเคมีที่เป็นพิษมากขึ้น และเป็นต้นเหตุของการใช้สารเคมีที่เป็นพิษมากขึ้น การเกษตรทางเลือกซึ่งเน้นการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์จึงได้รับการพัฒนาจนนำไปสู่การเกษตรอินทรีย์ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
ปัจจัยที่สี่ ความต้องการสินค้าอินทรีย์ของตลาดต่างประเทศที่เป็นคู่ค้ากับประเทศไทย เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ได้เพิ่มทวีมากขึ้น รวมทั้งราคาผลผลิตอินทรีย์ในตลาดต่างประเทศสูงกว่าราคาผลผลิตธรรมดาประมาณ 20-30 % จึงเป็นแรงจูงใจให้ผู้ที่เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจการส่งออกสินค้าการเกษตรและหน่วยราชการของกระทรวงพาณิชย์ในต่างประเทศ ได้มีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์มากขึ้นในประเทศไทย

การทำเกษตรอินทรีย์ควรมีการจัดการ ดังนี้
การเลือกพื้นที่
1. ควรเลือกพื้นที่เหมาะสม โดยอยู่ห่างโรงงาน ห่างแปลงปลูกที่ใช้สารเคมี มีแหล่งน้ำสะอาด ไม่มีสารพิษเจือปน
2. ศึกษาประวัติพื้นที่ เช่น เคยปลูกพืชอะไร การใช้ปุ๋ยและสารเคมี ย้อนหลังอย่างน้อย 3  ปี
3. เลือกปลูกพืชให้เหมาะกับดิน โดยให้พิจารณาว่าดินมีทั้งดินร่วน ดินเหนียว หน้าตื้น หน้าดินลึก ดินเป็นกรด ดินเป็นด่าง ดินเค็ม เป็นต้น จึงควรพิจารณาเลือกปลูกพืชที่ขึ้นอยู่เดิม
4.สังเกตจากพืชที่ขึ้นอยู่เดิม เก็บตัวอย่างดิน น้ำ ไปทำการวิเคราะห์
การวางแผนจัดการ
1.วางแผนป้องกันสารพิษจากภายนอก ทั้งทางน้ำและทางอากาศ การป้องกันทางน้ำโดนขุดคูรอบแปลง การป้องกันทางอากาศโดยปลูกพืชกันชน ทั้งไม้ทรงสูง ทั้งไม้ทรงสูง ทรงสูงปานกลางต้นเตี้ย บนคันกั้นน้ำรอบแปลง
2.วางแผนป้องกันภายในจัดระบบการระบายน้ำ การเก็บรักษาเครื่องมือ อุปกรณ์ และการเข้าออกไร่นา
3.วางแผนระบบการปลูกพืช เลือกฤดูปลูกที่เหมาะสมใช้พันธุ์พืชที่ต้านทานโรค-แมลง พืชบำรุงดิน พืชไล่แมลง
การเลือกพันธุ์ปลูก
1.คำนึงถึงสภาพดิน สภาพภูมิอากาศ ความต้านทานต่อ โรคแมลง และวัชพืช ความหลากหลายของชนิดพืชในแปลง
2.ไม่ใช้พืชจีเอ็มโอ (พืชที่มาจาการตัดต่อสารพันธุกรรม)
3.ควรเป็นเมล็ดพันธุ์พืชที่มาจาการปลูกแบบอินทรีย์
การปรับปรุงบำรุงดิน
1.เลือกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินสูง (ห้ามตัดไม้ทำลายป่า)
2.ถ้าดินเป็นกรดจัดใส่หินปูนบดลดความเป็นกรด
3.ปลูกพืชตระกูลถั่วและไถกลบสำหรับทำปุ๋ยพืชสด ได้แก่ โสน ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า ถั่วมะแฮะ เป็นต้น (โสนควรปลูกในนา ถั่วต่าง ๆ ควรปลูกในไร่)
4.ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เศษซากพืช เพื่อช่วยปรับโครงสร้างดิน และให้ธาตุอาหารพืช
5.ดินขาดฟอสฟอรัสให้ใช้ปุ๋ยหินฟอสเฟต
6.ดินขาดโพแทสเซียม ให้ใช้ปุ๋ยมูลค้างคาว เกลือโพแทสเซียมธรรมชาติ และขี้เถ้าถ่าน  ที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดคงจะเก็บตัวอย่างดินและส่งวิเคราะห์  โดยติดต่อสอบถามข้อมูลการวิเคราะห์ตัวอย่างดินและการเก็บตัวอย่างดินที่ถูกต้องที่หมอดินประจำตำบลของท่าน

ไม่มีความคิดเห็น: