มาเป็นเกษตรกรปลอดสารเคมีกันดีกว่า


    ทำไมถึงต้องทำเกษตรปลอดสารเคมี  
      เพราะจะทำให้ดินที่ปลูกพืชได้ฟื้นฟูไม่เสื่อมคุณภาพลงเรื่อยๆถ้าดินเสื่อมจุลินทรีย์หมดไปแล้วพืชที่ปลูกก็ออกดอกออกผลไม่ดีดังที่หวัง แล้วจะมาใช้เวลา 5-10ปีในการฟื้นสภาพดินแบบนั้นหรือ ถ้าทำปลอดสารเคมีแล้วมาพึ่งอินทรีย์จะช่วยให้ต้นทุนลดลง กำไรเพิ่มขึ้น ที่สำคัญสารเคมีทำให้สุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคทรุดโทรมและมีโรคภัยต่างๆจากสารพิษตกค้าง 

     การใช้ทรัพยากรดินโดยไม่คำนึงถึงผลเสีย อย่างการใส่ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ลงดิน ก่อให้เกิดความไม่สมดุลในแร่ธาตุ ทำให้สิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ในดินสูญหายตายจาก ดินที่ถูกผลาญไปนั้นสูญเสียความสามารถการดูดซับแร่ธาตุ พืชอ่อนแอ ขาดภูมิต้านทานโรค ข้อบกพร่องเหล่านี้จะก่อให้เกิดวิกฤติในห่วงโซ่อาหาร รู้หรือไม่ว่าปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตรเป็นเงินปีละประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทหรืออาจมากกว่า เกษตรกรต้องซื้อปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ในการเพาะปลูก ทำให้การลงทุนสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

    ถึงแม้การใช้สารเคมีจะได้ผลผลิตที่มากกว่า เห็นผลเร็วกว่า ลดความเสี่ยงจากโรคระบาดและแมลงด้วยสารเคมีที่อัดลงไปในการทำเกษตร แต่เมื่อมาคิดต้นทุนในการซื้อสารเคมีเหล่านั้นเทียบกับรายรับจากราคาผลิตผลที่ขายได้ ผมเชื่อว่าเหลือกำไรไม่มากหรืออาจไม่เหลือเลย ที่แย่ไปกว่านั้นท่านรู้หรือไม่ครับว่าเกษตรเคมีต้องแลกมาด้วยสุขภาพที่ทรุดโทรมและโรคร้ายของตัวเกษตรกรเอง ผมว่าไม่คุ้มค่ากันเลย

   ฉะนั้นผมคิดว่าเรามาทำเกษตรปลอดสารเคมีกันเถอะ ทางเลือกมันมีนั่นคือ "เกษตรอินทรีย์"  เป็นการทำการเกษตรด้วยหลักธรรมชาติ บนพื้นที่การเกษตรที่ไม่มีสารพิษตกค้างและหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของสารเคมี ทางดิน ทางน้ำ ทางอากาศ โดยไม่ใช้เคมีสังเคราะห์หรือสิ่งที่ได้มาจากการตัดต่อพันธุกรรม การทำเกษตรอินทรีย์ช่วยให้พื้นดินอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญช่วยลดต้นทุนได้มาก ท่านอาจมองว่าการทำเกษตรอินทรีย์เห็นผลช้า ไม่ทันกินไม่ทันใช้ แต่รับรองว่าระยะยาวคุ้มยิ่งกว่าคุ้มครับ

 ** ทุกวันนี้มีการพัฒนาวิธีการทางชีวภาพสามารถผลิตปัจจัยการผลิตอินทรีย์ ที่ทำให้พืชมีพัฒนาการที่ไวและสามารถให้ผลผลิตจำนวนมากและมีคุณภาพ โดยใช้ระยะเวลาสั้นเพิ่มขึ้นมากมาย 




ทำการเกษตรอย่างไรให้รวย

      การเกษตรเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน ประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่มีประชากรทำการเกษตรเป็นจำนวนมากแต่ก็มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ เพราะปัญหาหนี้สินที่มาจากการกู้ยืมและส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจ ทีผ่านมาเกษตรกรของเราไม่รู้จักวิธีการจัดการเพื่อทำให้รายได้สูงกว่ารายจ่าย เมื่อขายไม่ได้ก็ต้องกู้หนี้ยืมสินมา  เมื่อพืชผลเกิดปัญหาพวกเราไม่มีรายได้จากทางอื่นสำรอง ในฐานะที่เป็นทายาทเกษตรกรขอแชร์แนวทาง  การจัดการ การเพาะปลูก การลงทุน  นะครับ

   ต้องเริ่มจากการหาตลาด   

หลักๆเลยคือต้องรู้จักการหาตลาด ซึ่งก็มีการหาตลาดหลายวิธีเช่น

  • ออกสำรวจตลาด เริ่มจากใกล้บ้านก่อน สำรวจพืชที่จะขายมีราคาเท่าไหร่ แล้วเราจะใช้ทุนในการปลูกเท่าไหร่ มีพืชชนิดใดขาดตลาดบ่อยๆ
  • บริหารผลิตผล หลังจากสำรวจตลาดและเข้าใจแล้ว ต้องวิเคราะห์ว่าภายในพื้นที่เพาะปลูกเราจะผลิตพืชผลได้เท่าไหร่ จะจัดสรรพื้นที่แบ่งปลูกอย่างไร แนะนำว่าให้ปลูกพืชหลายชนิด นะครับ  เพราะเมื่อราคาชนิดหนึ่งตกเรายังมีพืชชนิดอื่นไว้ขายได้
  • กำหนดเป้าหมาย  เราจะเสนอขายกับใคร เช่น ขายแผงตลาดสดในตลาด หรือจะส่งให้พ่อค้าคนกลาง หรือจะเป็นพ่อค้าคนกลางเอง  ส่งตามร้านอาหาร ภัตตาคาร ตามห้าง แม้กระทั่งเปิดร้านค้าออนไลน์ คุณสามารถทำได้หมด
  • การนำเสนอสินค้า  ข้อนี้สำคัญมากจะเป็นตัวชี้ว่าผู้ซื้อจะเเลือกซื้อผลิตผลของเราหรือไม่  เราต้องเสนอว่าผลผลิตของเราดีอย่างไร(แต่ต้องศึกษาข้อมูลของผลิตผล การปลูกและการดูแลให้ดี  ให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพด้วยนะครับ)

          👉👉แนะนำเพิ่มเติมก่อนไปเสนอขายลองฝึกการเสนอที่หน้ากระจกก่อนก็ได้นะครับ จะได้มั่นใจและน่าเชื่อถือ ...แฮ่

  • ต้องมัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด ถ้าตกลงกันได้แล้ว ต้องส่งสินค้าให้สม่ำเสมอนะจ้ะ เพราะเวลาหาตลาดหายากมาก แต่ถ้าได้แล้วเราจะมีตลาดไว้รองรับตลอด เพราะฉะนั้นต้องมัดใจลูกค้าไว้ให้ได้

   การเพาะปลูก

จะปลูกอะไรควรมีการวางแผนก่อนเสมอ เพื่อไม่ให้ผลผลิตเสียเปล่าทำแล้วขาดทุน  และที่สำคัญต้องรู้จักวิธีลดต้นทุน  สามารถสร้างผลิตผลในราคาต้นทุนต่ำ แต่คุณภาพคงเดิมหรือดียิ่งขึ้น 
  • การวางแผนปลูก ควรเลือกปลูกพีชที่ไม่ตามกระแสอย่างเดียวอย่างที่เห็นทำกันในปัจจุบัน ที่ปลูกพืชตามกระแสแล้วผลก็ผิดคลาด ฉะนั้นต้องรู้ว่าช่วงไหนควรปลูกอะไร ผลลิตใดขายได้ในช่วงนั้นๆ  ซึ่งนั่นก็จะมาจากการสำรวจตลาดที่ได้กล่าวมาแล้ว
  • ทำไร่นาสวนผสม ตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานดำริไว้เป็นวิธีการที่ช่วยเกษตรกรได้เป็นอย่างดี 
  • การลดต้นทุน ลองหาสูตรที่เป็นเกษตรอินทรีย์มาใช้ดูค่อยๆศึกษาไป ซึ่งนำมาใช้แทนจากเดิมที่เราาต้องซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ในราคาแพง  ยังไงก็ลองหาสูตรเกษตรอินทรีย์มาใช้ดูนะครับ ช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้มาก
  • รู้จักแปรรูป  เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตผล ลองศึกษาและหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น อินเทอร์เน็ต ศูนย์เรียนรู้ชุมชน ฯลฯ อาจเป็นการช่วยเพิ่มรายได้อีกทาง

  การลงทุน

การลงทุนถ้าไม่จำเป็นไม่อยากต้องให้เป็นหนี้ นำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้แนวคิดเกษตรพอเพียงมาใช้กำกับนะครับ
  • หากต้องกู้ยืม ต้องมีเงินสำรอง 30-50% ของเงินที่จะกู้ยืม การทำการเกษตรไม่แน่นอนเสมอไปว่าจะได้กำไรพอที่จะจ่ายหนี้ทุกเดือน ทุกปี จึงจำเป็นต้องมีเงินสำรองเผื่อหักหนี้
  • มีเป้าหมายที่ลงทุนอย่างชัดเจน ต้องนำเงินที่กู้มานั้้นทำตามแผนที่วางไว้อย่างมีวินัย คำนึงความเสี่ยงที่จะเกิดและมีแนวทางแก้ไขไว้บ้าง
  • ไม่กู้ยืม ถ้าเป็นไปได้อยากให้ทำข้อนี้ เก็บรายได้ไปทีละนิด วางแผนการลงทุน พอมีถึงจุดหนึ่งค่อยๆทยอยลงทุนเพิ่ม จะได้ตรงกับแนวคิด "เศรษฐกิจพอเพียง"  มีกิน มีใช้ ไม่มีหนี้สิน 
   ข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงแนวทางขอให้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวท่านเอง เพื่อเป็นการพัฒนาการเกษตรและเพื่อเป็นแนวทางให้รู้วิธีการจัดการ "ทำการเกษตรอย่างไรให้รวย"

การทำเกษตรอินทรีย์-เกษตรเคมี

เราลองมาดูกันครับว่าเกษตรอินทรีย์ - เกษตรเคมี เขามีหลักการและความต่างกัน อย่างไรบ้าง

เกษตรอินทรีย์

เกษตรเคมี

       - ใช้แนวคิดการเกษตรแบบองค์รวม
       - เน้นการผสมผสานให้เกิดความหลากหลายที่แต่ละกิจกรรมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
       - ใช้พันธุ์ที่คัดเลือกให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นที่แตกต่างกัน
       - เน้นการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีในท้องถิ่น และใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่ช่วยให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและลดต้นทุนการผลิต
       - ใช้แรงงานคน สัตว์ และเครื่องทุ่นแรงขนาดเล็ก ที่ประหยัดพลังงาน ใช้หลักการธรรมชาติในการจัดการศัตรูพืช การปรับปรุงดิน
       - มีเป้าหมายการผลิต เพื่อความยั่งยืนในระยะยาวทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และความมั่นคงทางอาหาร
       - ใช้หลักการและแนวคิดการเกษตรแบบแยกส่วน
       - เน้นการผลิตแบบเชิงเดี่ยว (mono culture) ที่เป็นพืชหรือสัตว์เศรษฐกิจชนิดเดียว ในลักษณะเกษตรอุตสาหกรรม
       - ใช้พันธุ์ที่ได้จากคัดเลือกโดยหลักการทางพันธุศาสตร์เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง
       - เน้นการเพิ่มผลผลิตจากการใช้ปัจจัยการผลิตที่ได้จากภายนอก เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมน ฯลฯ
       - ใช้เครื่องทุ่นแรงจากพลังงานการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
       - มีเป้าหมายเพื่อผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีกำไรเป็นตัวเงินเป็นเครื่องชี้วัดผลสำเร็จ

               การทำเกษตรระบบต่างๆ ส่วนใหญ่เป้าหมายคือ ผลผลิต  แต่การจะเปรียบเทียบว่าระบบไหนดีไม่ดีอย่างไรควรวิเคราะห์ให้รอบด้าน โดยอยากให้เน้นไปที่ต้นทุนระยะสั้น ระยะยาว มากกว่าผลการผลิตเพราะหากลองเทียบกันดูระหว่างการทำเกษตรอินทรีย์กับเกษตรที่ใช้เคมี แล้วผมว่าผลการผลิตอาจแตกต่างกันไม่มาก แต่เมื่อเทียบกัน ด้านต้นทุน จะเห็นความแตกต่างกันชัดเจน เพราะฉะนั้นการทำเกษตรพอเพียง ในรูปแบบไหน ระบบต่างใด  จะว่าต้นทุนเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดก็ว่าได้

ปัญหาของเกษตรกรรมไทย

  ปัญหาของเกษตรกรที่เห็นชัดที่สุดคือ ความยากจน นอกจากเรื่องทุนภายในครอบครัว ปัญหาที่เกษตรกรต้องประสบก็มีอีกมากมายไม่ต่างกับการประกอบอาชีพอื่น ๆ แหละครับ เช่น การเข้าถึงแหล่งทุน ขาดความรู้ในด้านการเกษตร ขาดความเข้าใจในเรื่องปรับปรุงบำรุงดิน  ไม่สามารถทำให้ผลิตผลทางการเกษตรตอบสนองความต้องการของตลาดและผู้บริโภค  ความเสี่ยงที่มาจากภัยธรรมชาติหรือฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง
 ที่สำคัญคือ ภาคการเกษตรของไทยตกอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากเมื่อพิจารณาถึงข้อมูลพื้นที่การเกษตรและจำนวนเกษตรกร จะพบว่าจำนวนเกษตรกรรายย่อยลดลง คนจนจากภาคเกษตรกรรมจะล้มละลาย และหันเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ รวมทั้งเป็นแรงงานในภาคเกษตร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการพัฒนาประเทศ และการถดถอยของวิถีเกษตรกรรม
เมื่อพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเนื้อที่ถือครองการเกษตรก็พบว่ามีแนวโน้มการลดพื้นที่ทำนาลง  ในทางกลับกันพื้นที่สำหรับการปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ซึ่งรวมถึงยางพาราและปาล์มน้ำมัน มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น
         หากแนวโน้มการพัฒนาการเกษตรเป็นไปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ และไม่มีการแก้ไขปัญหาเกษตรกรอย่างจริงจัง เชื่อว่าอีกไม่เกิน 30 ปี จำนวนเกษตรกรไทยจะเหลือน้อยลง เพราะเกษตรกรอิสระรายเล็กรายน้อยจะค่อยๆ เลิกไปหรือเปลี่ยนไปเป็นแรงงานรับจ้างในโรงงาน หรือเป็นแรงงานเกษตรรับจ้างในที่ดินที่เคยเป็นของตนเอง ที่ยังเหลืออยู่บ้างคงเป็นกลุ่มเกษตรกรพันธสัญญา
          อาจกล่าวได้ว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ภาคเกษตรกรรมไทยกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในขณะที่เกษตรกรไทยยังคงเผชิญปัญหาความยากจนอันเกิดจากความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ปรากฏการณ์ของปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยในปัจจุบันนอกจากที่กล่าวข้างต้นมาแล้วยังมีอีกหลายประการ กล่าวคือ

1. ปัญหาด้านปัจจัยและฐานทรัพยากรการผลิต ทั้งเรื่องที่ดินทำกิน เกษตรกรจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่ดินทำกิน และเกษตรกรที่ยังมีที่ดินจำนวนมากแต่ละปีต้องสูญเสียที่ดินทำกินให้กับสถาบันการเงิน ปัญหาการเข้าไม่ถึงทรัพยากรการผลิต โดยเฉพาะน้ำ ทะเล ป่า และทรัพยากรพันธุกรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นฐานชีวิตของเกษตรกรและชาวประมงขนาดเล็ก รวมทั้งสิทธิเกษตรกรในด้านการเข้าถึงพันธุกรรมพืชและสัตว์ ยังไม่ได้รับการยอมรับ ทำให้เกษตรกรรายย่อยขาดศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต และพึ่งพิงตนเองไม่ได้
ปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อันเนื่องจากปัจจัยการผลิตมีฐานจากการใช้พลังงาน ต้นทุนปุ๋ย ยา แรงงานสูงขึ้น ฐานทรัพยากรอาหารลดลง และแม้ว่าปัจจุบันมีแนวโน้มว่าผลผลิตทางการเกษตรจะมีราคาดี แต่ราคาที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ไม่แน่ว่าจะส่งผลประโยชน์กลับมาที่เกษตรกร รวมทั้งราคาอาหารที่แพงขึ้นก็กลายเป็นค่าใช้จ่ายของเกษตรกรที่สูงขึ้น และส่งผลลบต่อคนจนเมืองเช่นกัน
2. ปัญหาเรื่องสุขภาวะ ทุกฤดูการผลิตไม่ว่าจะเป็นข้าว พืชไร่ พืชสวน หากได้ออกไปในไร่นาก็จะได้กลิ่นสารเคมีกำจัดหญ้ากำจัดแมลงทั่วทุกหนแห่ง เกิดผลกระทบทั้งเกษตรกรเองและผู้บริโภค เกษตรกรเองหนักกว่าเพื่อนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงในฐานะเป็นผู้ใช้ยาและเป็นผู้บริโภคผลผลิตด้วย

3. ปัญหาเรื่องตลาด ตลาดเป็นของพ่อค้าแต่การลงทุนและความเสี่ยงเป็นของเกษตรกร เกษตรกรจึงไม่มีส่วนในการตัดสินใจกำหนดราคาตลาด ราคาผลผลิตการเกษตรจึงไม่เป็นธรรม ไม่แน่นอน ขึ้นๆ ลงๆ ตามอำนาจซื้อของพ่อค้าขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตเพิ่มสูงขึ้นโดยที่ไม่เคยลดลง

4. ปัญหาที่มาจากนโยบายพลังงาน และปัญหาอันเกิดจากการขาดแคลนน้ำมัน ทำให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตในภาคเกษตรกรรม เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกพืชน้ำมันทั้งหลาย และส่งผลกระทบในหลายมิติ เช่น
           • พื้นที่เกษตร เปลี่ยนเป็นพื้นที่พืชพลังงานและเป็นเชิงเดี่ยวมากขึ้น ปัญหาการใช้ที่ดินที่ถูกเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตร เช่น การปลูกมันหลังนา การปลูกยูคาบนคันนา ฯลฯ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดจากโครงสร้างการผลิตเปลี่ยนแปลง ตามโครงสร้างพลังงาน และนโยบายพลังงานจนส่งผลต่อภาคเกษตรกรรม
           • ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ฐานอาหาร และสิ่งแวดล้อม อันเนื่องจากการขยายตัวของการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น การใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น และการบุกรุกพื้นที่ป่า  รวมทั้งการทิ้งของเสียจากโรงงานเอทานอล ฯลฯ ปัญหาที่ดินของเกษตรกรรายย่อย ปัญหาของชุมชนเกษตรกรรายย่อยกับฐานการผลิต ฐานทรัพยากรธรรมชาติ
           • ปัญหาพันธุกรรมพืช เช่น การที่พืชจีเอ็มโอจะเข้ามาทางพืชน้ำมัน

           • ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร จากการเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรกรรม จำนวนเกษตรกรรายย่อยลดลง เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ เกษตรกรจำนวนมากไม่ได้ทำเกษตรเกษตรกร  ไม่ได้มีชีวิตอยู่บนฐานเศรษฐกิจของการเกษตร ปัญหาความมั่นคงทางอาหารมิได้มีปัญหาเฉพาะต่อชุมชนเกษตรกร แต่จะส่งผลกระทบต่อประชากรทั้งประเทศ