การฟื้นฟูดิน

หลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุดของเกษตรอินทรีย์ก็คือ การจัดการดินให้มีความอุดมสมบูรณ์และสมดุล ทั้งนี้เพราะเกษตรอินทรีย์ถือว่า “ถ้าดินดี พืชย่อมแข็งแรงและสมบูรณ์” ซึ่งการปรับปรุงดินในแนวทางเกษตรอินทรีย์นี้จะใช้แนวทางชีวภาพเป็นหลัก ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อการฟื้นฟูบำรุงดินและปรับปรุงสมดุลของธาตุอาหารใน ดินไปพร้อมกัน ในการปรับปรุงดินด้วยชีววิธีนี้มีหลายวิธี อาทิ การจัดการอินทรีย์วัตถุในไร่นา (เช่น การไม่เผาฟาง), การจัดการใช้ที่ดินอย่างอนุรักษ์ (เช่น การป้องกันดินเค็ม หรือการป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน) หรือการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ประเภทต่างๆ เช่น ปุ๋ยคอก, ปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพ


   ความสำคัญของดินต่อการเกษตรเป็นเรื่องที่ตระหนักรับรู้กันมานาน ภูมิปัญญาพื้นบ้านมีวิธีการในการจำแนกและวิเคราะห์ดิน ตลอดจนการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำการเกษตรแต่ละประเภท ความสำคัญของดินต่อการเพาะปลูกนั้นไม่เพียงเพราะว่า ดินเป็นจุดศูนย์กลางของวงจรธาตุอาหารพืช โดยเฉพาะไนโตรเจนและคาร์บอน แต่ยังรวมถึงการที่ดินเป็นแหล่งกำเนิดและที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตมากมายมหาศาล ตลอดจนปัญหาความไม่ยั่งยืนของการเกษตรมีสาเหตุมาจากความเสื่อมโทรมของดิน เป็นสำคัญ ดังนั้นการจัดการดินอย่างถูกต้องจึงเป็นหัวใจของเกษตรอินทรีย์ ในบทนี้จึงได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับดิน ตลอดจนแนวทางการจัดการดินในระบบเกษตรอินทรีย์


การฟื้นฟูดิน


องค์ประกอบที่สำคัญของดินสำหรับการเกษตรมีอยู่ 4 องค์ประกอบ คือ เม็ดดิน, น้ำ, อากาศ และอินทรีย์วัตถุ ในการปรับปรุงบำรุงดินนั้นเกษตรกรคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเม็ดดินได้มากนัก สิ่งที่เกษตรกรสามารถจัดการได้ก็คงมีเพียงแต่น้ำ, อากาศ และอินทรีย์วัตถุในดิน ซึ่งการจัดการอินทรีย์วัตถุนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะอินทรีย์วัตถุเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้เกิดช่องว่าง(อากาศ) ในดิน และความสามารถในการเก็บกักน้ำของดิน ) ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ปริมาณอินทรีย์วัตถุจะถูกใช้เป็นดัชนีสำคัญในการ บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยดินที่ดีจะมีอินทรีย์วัตถุประมาณ 5%

ดินในฟาร์มเกษตรของประเทศเขตร้อนโดยส่วนใหญ่เป็นดิน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีปริมาณอินทรีย์วัตถุน้อยกว่า 1% ทำให้ดินอัดแน่น ไม่มีช่องว่างอากาศสำหรับให้รากพืชหายใจ อีกทั้งยังมีความสามารถเก็บกักน้ำและธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชน้อย แนวทางการปรับปรุงดินด้วยการใช้อินทรีย์วัตถุและการฟื้นชีวิตให้กับดินจึงเป็นสิ่งจำเป็น
  

ไม่มีความคิดเห็น: