หลายคนมองว่าดินเป็นเพียงที่หยั่งยึดรากพืช หรือเป็นเพียงแหล่งอาหารสำหรับพืช แต่ที่จริงแล้ว ดินเองก็มีชีวิต มีการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นอยู่ในดินตลอดเวลา ในดิน 1 กรัม (น้อยกว่าหนึ่งหยิบมือ) มีสิ่งมีชีวิตจำนวนมากถึงหลายพันล้านตัว โดยสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็คือจุลินทรีย์ แต่ก็ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกมากมายเช่น แมลง, ไส้เดือน, สัตว์ขนาดเล็ก และรากพืช สิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศดิน ทั้งในแง่ของการทำให้ดินร่วนซุย, ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้เป็นฮิวมัส หรือเปลี่ยนธาตุอาหารในดินให้อยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนเป็นแหล่งอินทรีย์วัตถุเองเมื่อสิ่งมีชีวิตนั้นตายลง
ตาราง สิ่งมีชีวิตในดิน
สิ่งมีชีวิต
|
จำนวน
|
อาหาร
|
บทบาทในนิเวศดิน
|
จุลินทรีย์
|
120 ล้าน – 1,200 ล้าน ต่อดินหนึ่งกรัม
|
อินทรียวัตถุ, ธาตุอาหารในดิน
|
ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ, ตรึงไนโตรเจน, ปลดปล่อยฟอสเฟตจากดิน
|
แมลง
|
หนึ่งพัน-หนึ่งแสนตัว ในดินหนึ่งตารางเมตร
|
พืชและสัตว์ขนาดเล็ก, แมลง, รากพืช, ซากพืช, อินทรีย์วัตถุ
|
พรวนดินและผสมดิน เมื่อตายก็จะเป็นอินทรีย์วัตถุ แต่อาจเป็นศัตรูพืชด้วย
|
ไส้เดือน
|
30-300 ตัว ในดินหนึ่งตารางเมตร
|
อินทรีย์วัตถุ
|
พรวนดินและผสมดิน มูลมีธาตุอาหารมาก
|
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
|
ไม่แน่นอน
|
ไส้เดือน, แมลง
|
พรวนดิน เพิ่มอินทรีย์วัตถุ
|
รากพืช
|
18 – 1,000 กิโลกรัม/ไร่
|
สังเคราะห์แสง, ธาตุอาหาร
|
เก็บกักน้ำ, หมุนเวียนธาตุอาหารจากดินลึกชั้นล่าง, ซากพืชเป็นอินทรีย์วัตถุ
|
สิ่งมีชีวิตในดินเป็นกุญแจสำคัญของการฟื้นฟูบำรุงดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุลินทรีย์ต่างๆ ที่ช่วยทำหน้าที่ในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ สิ่งมีชีวิตในดินเหล่านี้ต้องการอาหาร, น้ำ และอากาศ เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ดังนั้นแนวทางหลักในการฟื้นชีวิตให้กับดิน คือ
1) อาหาร
แหล่งอาหารสำคัญของสิ่งมีชีวิตในดินก็คือ อินทรีย์วัตถุ แต่การใส่อินทรีย์วัตถุมีข้อพึงพิจารณาดังต่อไปนี้
• ดินควรมีอินทรีย์วัตถุ โดยมีสัดส่วนของคาร์บอน : ไนโตรเจน ประมาณ 25-30 : 1 ซึ่งปุ๋ยหมักที่ผ่านการหมักอย่างสมบูรณ์แล้วจะมีสัดส่วนคาร์บอน : ไนโตรเจนตามที่ต้องการ
• ในกรณีที่ใช้อินทรีย์วัตถุที่มีคาร์บอนมาก (เช่น ขี้เลื่อย) เมื่อจุลินทรีย์ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุประเภทนี้ จุลินทรีย์อาจดึงไนโตรเจนจากดินเพื่อใช้ในการย่อย ซึ่งจะทำให้ดินมีปัญหาขาดไนโตรเจนได้ ดังนั้นจึงไม่ควรใส่อินทรีย์วัตถุประเภทนี้ในขณะที่ปลูกพืชหรือในช่วงที่พืช กำลังต้องการไนโตรเจน เพราะจะทำให้พืชแสดงอาการขาดธาตุไนโตรเจน หรือมิฉะนั้นก็ควรใส่อินทรีย์วัตถุที่มีไนโตรเจนสูงให้กับดินควบคู่กันไป ด้วย
• เกษตรกรต้องเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้เป็นอาหารแก่สิ่งมีชีวิตในดินอย่างต่อเนื่องทุกปี
2) อากาศ
อากาศเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิด อาจมีจุลินทรีย์บางชนิดที่ไม่ต้องการอากาศ แต่จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ส่วนใหญ่ต้องการอากาศในการดำรงชีพแทบทั้งสิ้น ส่วนสิ่งมีชีวิตในดินอื่นก็ต้องการอากาศในการหายใจรวมถึงรากพืชด้วย ในดินที่ขาดอากาศนั้นรากพืชก็จะไม่เจริญเติบโตหรือตายลง ทำให้ต้นพืชขาดอาหารและอาจตายได้ในที่สุด
ในดินจะมีอากาศได้ ดินต้องโปร่งและร่วนซุย แนวทางในการทำให้ดินโปร่งและร่วนซุย คือ
- ไม่ใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ในบริเวณแปลงปลูกพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ดินมีความชื้นสูง
- เพิ่มเติมอินทรีย์วัตถุให้กับดิน หรือใช้ปุ๋ยหมักที่มีฮิวมัสสูง เพราะฮิวมัสมีส่วนสำคัญในการทำให้ดินโปร่งและร่วนซุย
3) น้ำ
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องการน้ำในการเจริญเติบโต ปริมาณน้ำในดินเพียงเล็กน้อย (แค่เพียงแผ่นฟิลม์บางๆ เคลือบเม็ดดิน) ก็เพียงพอต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตในดิน
เมื่อฟื้นชีวิตให้กับดินแล้ว ต้นไม้จะแข็งแรง ปัญหาโรคและแมลงก็จะน้อยลง ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก
• ดินดีทำให้ต้นไม้ได้ธาตุอาหารครบถ้วน ไม่ใช่มีธาตุอาหารแต่เพียงบางอย่างมากเกินไป เปรียบเสมือนคนที่บริโภคเฉพาะอาหารโปรตีนหรือไขมันมาก แม้จะมีชีวิตอยู่ได้แต่สุขภาพก็จะไม่แข็งแรง พืชที่ได้รับธาตุอาหารไนโตรเจนมากเกินไปก็เช่นกัน พืชจะมีลำต้นอวบแต่ไม่แข็งแรง ทำให้โรคแมลงระบาดได้โดยง่าย
• เชื้อจุลินทรีย์ในดินที่เป็นประโยชน์จะปล่อยสารบางอย่างออกมา เหมือนเป็นวัคซีนให้พืช ซึ่งทำให้ต้นไม้แข็งแรง ไม่เป็นโรคง่าย
• ดินที่มีชีวิตคือ มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ซึ่งจะป้องกันไม่ให้มีโรคและแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งระบาดรุนแรง โดยปกตินั้นธรรมชาติต้องมีความหลากหลายสูงจึงอยู่ในภาวะสมดุล เมื่อเราปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งก็เท่ากับลดความหลากหลายทางชีวภาพของระบบ นิเวศลง ซึ่งทำให้โรคและแมลงระบาด เพราะธรรมชาติพยายามเพิ่มความหลากหลายด้วยสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น (โรคและแมลง) และขณะเดียวกันปริมาณพืชที่ปลูกก็ลดลงเนื่องจากโรคและแมลง เพื่อสร้างภาวะสมดุลใหม่ขึ้นมาแทน ดังนั้นการระบาดของโรคและแมลงจึงเป็นดัชนีที่บ่งชี้ถึงปัญหาความไม่สมดุลของ ความหลากหลายของนิเวศเกษตร แต่ถ้าเราทำดินให้อุดมสมบูรณ์ก็เท่ากับเพิ่มความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตใน ดิน การระบาดของโรคและแมลงก็จะน้อยลง